วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

น้ำตก น่าเที่ยว


น้ำตกธารทอง
อยู่ในเขตบ้านผาตั้ง หมู่ที่ 1 ตำบลผาตั้ง การเดินทางใช้เส้นทางหนองคาย-ศรีเชียงใหม่-สังคม (ทางหลวงหมายเลข 211) ผ่านบ้านไทยเจริญ แล้วต่อไปบ้านผาตั้ง บริเวณหลัก กม.ที่ 74 ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ 11 กิโลเมตร น้ำตกธารทองจะอยู่ริมทางด้านขวามือ ส่วนด้านซ้ายมือของถนนเป็นบริเวณลานจอดรถ น้ำตกธารทองมีลักษณะเป็นธารน้ำไหลไปตามลานหิน มีแอ่งน้ำให้เล่นน้ำได้ ก่อนจะลดระดับเกิดเป็นชั้นน้ำตกเล็ก ๆ เป็นระยะลดหลั่นกันไปประมาณ 30 เมตรและไหลลงสู่ลำน้ำโขงในที่สุด ช่วงเวลาที่มีน้ำมากเหมาะแก่การมาเที่ยวชมคือระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม บริเวณโดยรอบเป็นสวนรุกขชาติมีป่าไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น

                 



น้ำตกธารทิพย์
อยู่เลยอำเภอสังคมไปประมาณ 9 กิโลเมตร โดยเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 211 ถึงบริเวณ กม. 97-98 มีป้ายบอกทางเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อถึงลานจอดรถต้องเดินเท้าอีก 100 เมตรจึงถึงตัวน้ำตก น้ำตกธารทิพย์ เป็นน้ำตกที่สูงและสวยงามท่ามกลางป่าเขียวขจี แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ด้านล่างเป็นน้ำตกชั้นแรกสูงประมาณ 30 เมตร ไหลจากหน้าผาเป็นสายยาวสีขาวสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ชั้นที่ 2 สูงประมาณ 100 เมตร ต้องปีนขึ้นไปตามเส้นทางที่ทำไว้ และชั้นที่ 3 สูงประมาณ 70 เมตร มีน้ำไหลอยู่ตลอดปี และจะมีน้ำมากในฤดูฝน

                  



น้ำตกวังน้ำมอก
อยู่ในเขตวังน้ำมอก ตำบลพระพุทธบาท เป็นน้ำตกสูง 30 เมตร อยู่ทางทิศเหนือของหมุ่บ้าน เลยเขตเทศบาลตำบลศรีเชียงใหม่ออกไปทางอำเภอสังคม ประมาณ 28 กิโลเมตร ก่อนถึงวัดหินหมากเป้ง 20 เมตร จะมีทางแยกซ้ายเข้าสู่หมู่บ้านวังน้ำมอก ระยะทางจากทางแยกเข้าสู่น้ำตกประมาณ 7 กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์จนถึงตัวน้ำตกได้โดยไม่ต้องเดินเท้า บริเวณน้ำตกมีแนวสันภูเป็นผาหินมีลักษณะแปลกตา ธารน้ำไหลระยะทางลดหลั่นกันไป ตอนล่างเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่และลานหิน สามารถลงเล่นน้ำและอาบน้ำได้ ช่วงเวลาที่มีน้ำได้แก่ ช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เป็นช่วงที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวที่สุด

                 
   ประกอบกับผู้คนที่มาท่องเที่ยวสามารถพักค้างคืน (โฮมสเตย์) และเดินเที่ยวป่า รวมทั้งยังร่วม พิธีบายศรีสู่ขวัญ และซุมข้าวแลง (กินข้าวเย็นด้วยกัน) ซึ่งเป็นประเพณีของชาวบ้านวังน้ำมอกในการต้อนรับกับคนแปลกถิ่นที่มาเยือน จึงสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนเป็นอย่างดี อาหารพื้นบ้านที่ท่านจะได้ลิ้มรส อันได้แก่ แกงหน่อไม้ ตำสับปะรด ปลาทอดสมุนไพรกรอบ ฯลฯ

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มารู้จัก ศาลหลักเมือง.......

ศาลหลักเมืองหนองคาย

ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ ข้างศาลากลางจังหวัดหนองคาย ศาลหลักเมืองหนองคายก่อสร้างขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของบรรดาข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ประชาชนจังหวัดหนองคาย เพื่อเป็ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นอนุสรณ์แห่งความสามัคคี เริ่มทำพิธีพลีไม้เสาหลักเมือง เมื่อวันที่ 8 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2542 ตรงกับวันแรม 11 ค่ำ เดือน 8 ปีเถาะ กฤษ์เวลา 09 นาฬิกา 39 นาที และเริ่มก่อสร้างอาคารศาลหลักเมืองประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์โดยพระไตรโลกาจารย์ วัดศรีเมือง เมื่อวันที่ 23 เดือนเมษายน พ.ศ. 2543 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้ายปีมะโรง ฤกษ์เวลา 09 นาฬิกา 19 นาที แล้วเสร็จบริบูรณ์ มีพระราชพิธีสมโภชน์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม รวมงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 11,108,000 บาท
ตัวองค์ศาลจะแบ่งเป็นชั้นล่างเก็บของและส่วนบำรุงรักษา ชั้นบนเป็นส่วนที่ติดตั้งศาลหลักเมือง มีเครื่องยอดของอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบจตุรมุข และเรือนยอดเป็นพระธาตุ มีระเบียงล้อมรอบ 4 ทิศ  

                                  
      

ชวนมาเที่ยว ศาลาแก้วกู่

              สวัสดีเพื่อน ๆ ชาวหมูหินดอทคอมทุกท่านจ้า ทริปนี้หมูหินแวะมาเที่ยวที่จังหวัดหนองคาย เมืองแห่งอารยธรรม มีทั้งโบราณสถานเก่าแก่บวกกับความเชื่อในเรื่องของพญานาค ทำให้จังหวัดหนองคายกลายเป็นเมืองที่น่าค้นหาและน่ามาเยือนอีกแห่งหนึ่ง ด้วยบรรยากาศที่เงียบสงบ ผู้คนอัธยาศัยดี และยังติดกับประเทศลาว จึงทำให้หนองคายเป็นเมืองที่รวบรวมเอาศิลปะวัฒนธรรมของทั้งไทย ลาว เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว และทริปนี้หมูหินดอทคอมขอนำเสนอ ศาลาแก้วกู่(วัดแขก) จ.หนองคาย แห่งท่องเที่ยวทางโบราณสถานที่สำคัญและได้รับความนิยมของจังหวัดหนองคาย ด้วยความอลังการของสถาปัตยกรรม ที่สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ และความศักดิ์สิทธิ์ของปู่เหลือ นักพรตผู้ที่ก่อตั้งศาลาแก้วกู้ ซึ่งเสียชีวิตมาแล้ว 10 ปี แต่ร่างของท่านปู่ก็ยังไม่เน่า ไม่เปื่อย ทำให้ศาลาแก้วกู่แห่งนี้ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันศักดิ์สิทธิ์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาหนองคาย ต้องไม่พลาดมาแวะ สักการะหลวงปู่เหลือ และชมความงดงามของสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ของที่นี้ นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่หมูหินดอทคอมได้มาเยือนในครั้งนี้ เราก็ไม่พลาดเก็บภาพบรรยากาศไปฝากเพื่อน ๆ เหมือนเช่นเคยจ้า
ศาลาแก้วกู่ (วัดแขก) อุทยานเทวาลัย จังหวัดหนองคาย (สำนักพุทธมามกสมาคม จังหวัดหนองคาย) เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสถาปัตยกรรมโบราณที่ควรค่าแก่การมาสัมผัสด้วยตาตัวเอง ตั้งอยู่ ชุมชนสามัคคี อ.เมือง จ.หนองคาย ในพื้นที่ 42 ไร่ เพียงแค่ 3 กม.จากตัวเมืองก็สามารถมาชมความงามของศาลาแก้วกู่ได้ อาคารศาลาแก้วกู่ ภายในจัดเก็บวัตถุโบราณ พระพุทธรูปโบราณล้ำค่า และร่างอันสงบ ไม่เปื่อยเน่าของปู่เหลือ ซึ่งท่านสิ้นชีวิตมาแล้วกว่า 10 ปี

   
 
   
 
   

มารู้จัก หนองคาย

แนะนำหนองคาย
             หนองคาย เมืองชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นประตูสู่เมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) โดยมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวเชื่อมระหว่างสองประเทศ
จังหวัดหนองคายอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 615 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 7,332 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำโขงมากที่สุดเป็นระยะทาง 320 กิโลเมตร เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมและประมงน้ำจืด ทั้งยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ สามารถเดินทางข้ามไปเที่ยวยังฝั่งลาวได้โดยสะดวก มีวัดวาอารามและวัฒนธรรมวิถีชีวิตชาวบ้านที่น่าสนใจ โรงแรมที่พักที่สะดวกสบาย หลากหลายไปด้วยอาหารและสินค้าของฝาก ล้วนเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมาเยือนเมืองริมโขงแห่งนี้
ภูมิอากาศ เนื่องจากจังหวัดหนองคายมีภูมิประเทศติดกับแม่น้ำโขง ทำให้มีฝนตกชุกในฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ในฤดูหนาวราวเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์จะมีอากาศหนาวเย็นเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูง อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 11 องศาเซลเซียส ส่วนในฤดูร้อนตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายนอากาศจะร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 35 องศาเซลเซียส
ประวัติเมืองหนองคาย ประวัติศาสตร์ของเมืองหนองคายเริ่มต้นเมื่อกว่า 200 ปีเศษ พื้นที่บริเวณริมฝั่งโขงนี้เดิมเคยเป็นที่ตั้งของเมืองเล็ก ๆ 4 เมือง คือ เมืองพรานพร้าว เมืองเวียงคุก เมืองปะโค เมืองไผ่ (บ้านบึงค่าย) ปัจจุบันยังพบซากโบราณสถานอยู่ตามวัดต่าง ๆ ริมแม่น้ำโขงบนเส้นทางท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์ผู้ครองนครเวียงจันทน์ได้ตั้งตนเป็นกบฎ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาราชเทวี ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ โดยมีท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) เจ้าเมืองยโสธร และพระยาเชียงสา เป็นกำลังสำคัญในการช่วยทำศึกจนได้รับชัยชนะ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้ท้าวสุวอขึ้นเป็นเจ้าเมือง โดยจัดตั้งเมืองใหญ่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคอยควบคุมพื้นที่และเลือกสร้างเมืองที่บ้านไผ่ แล้วตั้งชื่อเมืองว่า หนองคาย ตามชื่อหนองน้ำใหญ่ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง