ประวัติวัดหินหมากเป้ง
....พ.ศ. ๒๔๘๑ พระอาจารย์หล้า ได้มาจำพรรษา ณ ที่นี้เป็งองค์แรก แต่ท่านก็มิได้สร้างเป็นวัด ทำเป็นกระต๊อบเล็ กๆ อยู่อย่างพระธุดงค์ธรรมดา ๆ ท่านองค์นี้เป็นลูกคนบ้านห้วยหัดนี้เอง ท่านเคยมีครอบครัว ได้ลูกชายคนหนึ่งแล้ว ภรรยาท่านตายท่านจึงได้ออกบวช อายุของท่านราว ๔๐ ปี โดย เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์ เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชเวที เป็นพระอุปัชฌายะ ท่านไม่รู้หนังสือ เมื่อมาภาวนากัมมัฏฐาน ตัวหนังสือมาปรากฏในภาวนาของท่าน ท่านเป็นคนขยันหมั่นเพียรมาก สนใจในกิจการทั่วไป เมื่อตัวหนังสือมาปรากฎในภาวนาของท่านเป็นที่อัศจรรย์ท่านยิ่งสนใจมากท่านพยายามประสมและอ่านผิดบ้างถูกบ้างทีแรก นานเข้าจนอ่านหนังสือที่มีเนื้อความเป็นธรรมได้ นอกนั้นอ่านไม่ได้ ผลที่สุดด้วยความพยายามของท่านอ่านหนังสือทั่วๆ ไปได้หมด เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย แต่ท่านพระอาจารย์หล้าได้เป็นไปแล้ว ตอนหลัง ๆ ท่านเป็นเจ้าตำราสั่งให้เขาซื้อหนังสือใหญ่ ๆ เช่น หนังสือพระวิสุทธิมัคค์ ปุพพสิกขา มหาขันธกวินัย มาไว้เป็นสมบัติของท่านเลย
ท่านชอบเที่ยววิเวกองค์เดียวอยู่ตามแถบแถวภูพานนี้โดยมากชาวบ้านแถวที่ท่านเที่ยวไปยอมเคารพนับถือท่านมาก ถ้าบ้านใดเจ็บไข้ได้ป่วยโดยเขาถือว่าผีมาอาละวาด เขาจะต้องไปนิมนต์ให้ท่านไปขับผีให้ ความจริงมิใช่ท่านไปขับผี แต่ท่านไปโปรดเขาพร้อมทั้งชาวบ้านด้วย เมื่อท่านไปถึงทีแรก ท่านจะต้องหาที่พักซึ่งเขาถือว่าเป็นที่อยู่ของผี แล้วท่านจะต้องนั่งกำหนดภายในให้รู้ว่า ผีตัวนี้มีชื่อว่าอย่างไรทำไมจึงต้องมาอยู่ ณ ที่นี้ และได้ทำให้ชาวบ้านเขาเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะเหตุใดเมื่อท่านทราบแล้วท่านจะต้องกำหนดหาบทภาวนาเพื่อให้ผีตนนั้นมีจิตอ่อนน้อมยอมเมตตาเป็นมิตรกับชาวบ้านเหล่านั้นแล้วท่านจะเรียกชาวบ้านเหล่านั้นมาสอนให้เขาตั้งมั่นอยู่ในคุณ พระรัตนตรัย ต้องไปก็ให้มีการปฏิบัติทำวัตรไหว้พระเช้าเย็นเป็นประจำอย่าได้ขาด แล้วตอนท้ายก็สอนให้เขาภาวนาบทที่ท่านเลือกไว้นั้นนอกจากสอนให้เขาเหล่านั้นงดเว้นจากการสาปแช่ง ด่า และพูดคำหยาบคายต่าง ๆ ห้ามลักฉ้อโกงขโมยของกันและกันให้เว้นจากมิจฉาจาร แลให้งดจากการดื่มสุรา และยังมิให้รับประทานลาบเนื้อดิบอีกด้วยเมื่อท่านไปสอนที่ไหนได้ผลเป็นที่อัศจรรย์ทุกแห่งไป แม้ที่เป็นหนอง หรือเป็นน้ำซับ ทำเลดี ๆ ซึ่งเขาถือว่าผีดุ เมื่อปฏิบัติตามท่านสอนแล้วเขาไปจับจองเอาที่เหล่านั้นมาเป็นกรรมสิทธิ์ทำมาหากินจนตั้งตัวได้ก็มากราย ที่อธิบายมานี้เพื่อให้เห็นอัจฉริยนิสัยของท่าน ซึ่งไม่น่าจะเป็นแต่มันก็เป็นไปแล้วท่านเพิ่งมามรณภาพที่บ้านนาเก็น เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๐ นี้เอง อายุของท่านได้ ๘๒ ปี พรรษา ๔๒ การมรณภาพของท่านก็พิสดาร คือท่านป่วยมีอาการเล็กน้อย เย็นวันนั้นท่านออกเดินไปตามริมชายวัด เห็นต้นไม้แดงตายยืนอยู่ต้นหนึ่ง ท่านบอกว่าฉันตายแล้วให้เอาไม้ต้นนี้นะเผาฉัน แล้วก็อย่าเอาไว้ล่วงวันล่วงคืนด้วย ตกกลางคืนมาราว ๒ ทุ่มท่านเริ่มจับไข้ อาการไข้เริ่มทวีขึ้นโดยลำดับ ตีหนึ่งเลยมรณภาพ บรรดาลูกศิษย์ทั้งพระและฆราวาสก็ทำตามท่านสั่งทุกอย่าง ที่นำเอาประวัติของท่านพระอาจารน์หล้ามาเล่าโดยย่อนี้ ก็เพื่อผู้สนใจจะได้นำมาเป็นคติ และท่านเป็นคนแรกที่เริ่มสร้างวัดนี้ ต่อจากนี้ก็มี พระเส็ง พระคำจันทร์ พระอุทัย และพระคำพันเป็นคนสุดท้าย
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ ข้าพเจ้าได้จำพรรษาที่ถ้ำขาม ออกพรรษาแล้ว ได้วิเวกมาพักอยู่ด้วย พระคำพัน เห็นว่าที่นี้วิเวกดีพร้อมด้วยดินฟ้าอากาศ รู้สึกว่าได้รับความสบายดี จึงได้จำพรรษาอยู่ด้วยพระคำพัน บรรดาศิษยานุศิษย์เมื่อได้ทราบว่าข้าพเจ้ามาอยู่ ณ ที่นี้ ต่างก็พากันลงเรือมาเยี่ยม เพราะเวลานั้นทางรถยังไม่มี เมื่อพากันมาเห็นสถานที่เป็นที่สัปปายะ อากาศก็ดี วิเวกน่าอยู่ วิวก็สวยงามแต่เสนาสนะที่อยู่อาศัยยังไม่น่าอยู่ ต่างก็พากันหาทุนมาช่วยบูรณก่อสร้าง จนสำเร็จเป็นวัดที่ถาวร ดังที่ปรากฏแก่สายตาของท่านทั้งหลายอยู่ ณ บัดนี้แล้ว
.....วัดหินหมากเป้งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๑๕ โดยเจ้าพระคณะสมเด็จพระมาหวีรวงศ์ เป็นประธานในสงฆ์ อุโบสถหลังนี้ทำหลังคาเป็นสองชั้น กว้าง ๗ เมตร ยาว ๒๑ เมตร สูงจากพื้นถึงเพดาน ๙ เมตร มุงกระเบึ้องดินเผากาบกล้วยโดยคุณไขศร ตันศิริ กองช่างสุขาภิบาล กรมอนามัย เป็นผู้ออกแปลนอาจารย์เลื่อน พุกะพงษ์ กรมศิลปกร เป็นผู้ออกแบบลวดลายต่าง ๆ ตลอดถึงแนะนำการก่อสร้าง นายไพบูลย์ จัดทด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เฉพาะค่าแรงงานราคาสามแสนบาท น.ท.พนศักดิ์ รัตติธรรม เป็นผู้หาเครื่องอุปกรณ์ที่มีอยู่ทางกรุงเทพฯ นายแสงเพ็ชร จันทด เป็นเหรัญญิกและหาเครื่องอุปกรณ์ตลอดควบคุมการก่อสร้างโดยใกล้ชิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น